ข้อควรระวังระบบทำความเย็นแบบแอมโมเนีย
เข้าใกล้หน้าร้อนแล้ว Admin TEG จึงขอนำเอาบทความดีๆ เกี่ยวกับ “ข้อควรระวังระบบทำความเย็นที่แบบแอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น” มาแบ่งปันกัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่โรงงานผลิตน้ำแข็ง และห้องเย็นส่วนใหญ่ก็คงจะเพิ่มกำลังการผลิตกันเต็มที่ เพื่อให้ทันกับปริมาณความต้องการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจะต้องเร่งกำลังการผลิต ยังงัยก็อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยกันด้วยนะครับ
จากสถิติการเกิดอุบัติภัยเกี่ยวกับแอมโมเนีย ที่ admin TEG รวมรวมมาในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2563 ก็จะพบว่า ในแต่ละปีมีเหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลหลายครั้ง และแต่ละครั้งก็เกิดความสูญเสีย ทั้งต่อชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง และถูกวิธี ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวทางในการตรวจเช็คระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นเบื้องต้น
แนวทางในการตรวจเช็คระบบทำความเย็นแบบแอมโมเนียเบื้องต้น
1. ระบบทำความเย็น และอุปกรณ์ส่วนควบคุม ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ปลอดภัยเพียงพอในการใช้งาน เช่น ไม่มีการผุกร่อน การรั่วซึม มีการตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้งานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยวิศวกรที่มีความชำนาญ และมีแผนบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
2. ภาชนะรับแรงดันในระบบทำความเย็น เช่น ถังพักน้ำยา (Receiver Tank), ถังแยกน้ำมัน (Oil Separator), เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบเปลือกและท่อ (Shell and Tube Heat Exchangers), Intercooler Tank, ถังพักแอมโมเนีย (Accumulator Tank), หอทำน้ำแข็งหลอด (Tube Ice) เป็นต้น และสร้างให้แข็งแรงถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
3. ระบบทำความเย็นต้องมีอุปกรณ์ครบถ้วน ดังนี้
- คอมเพรสเซอร์ทุกตัวต้องติดตั้ง
- วาล์วสกัดทางดูด (Suction stop valve)
- วาล์วสกัดทางส่ง (Discharge stop valve)
- วาล์วกันกลับทางส่ง (Discharge check valve)
- สวิทช์ตัดความดันต่ำ (Low pressure cutout switch)
- สวิทช์ตัดความดันสูง (High pressure cutout switch)
- ถ้าคอมเพรสเซอร์ใช้ปั๊มน้ำมัน จะต้องมีสวิทช์ตัดความดันน้ำมันต่ำ (Low oil pressure cutout switch)
- อุปกรณ์วัดความดันด้านดูด ด้านส่ง และความดันของปั๊มน้ำมันคอมเพรสเซอร์
- หากระบบท่อแอมโมเนียมีการติดตั้งวาล์วสกัดหัวท้าย ต้องติดตั้งอุปกรณ์ระบายความดันในส่วนที่ถูกสกัด เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อแตกจากการขยายตัวของแอมโมเนียเหลว (Liquid expansion)
- ปั๊มแอมโมเนีย (Refrigerant pumps) ต้องติดตั้งวาล์วสกัดด้านดูด และด้านส่ง
- อุปกรณ์ดูระดับของเหลว – มีการติดตั้งวาล์วสกัดหัวท้าย ชนิดมีวาล์วกันกลับในตัว เพื่อลดอันตรายเมื่อหลอดแก้วแตก และต้องมีแผ่นกั้นที่แข็งแรงกันกระแทกล้อมรอบ ตลอดความยาวของหลอดแก้ว
- การระบายอากาศที่ห้องเครื่องจักรแอมโมเนีย – ต้องมีลักษณะโปร่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี หากปิดทึบต้องติดตั้งพัดลมระบายอากาศที่เพียงพอ
- อุปกรณ์ระบายความดัน (Pressure relief device)
- ต้องติดตั้งลิ้นนิรภัยเป็นแบบเดี่ยวหรือคู่ (Dual safety valve) หรืออุปกรณ์ระบายความดันชนิดอื่นที่เหมาะสมบนภาชนะรับความดัน เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน ถังแยกน้ำมัน ถังถ่ายน้ำมันทุกใบ และ ณ จุดต่างๆ ในระบบทำความเย็นที่จำเป็นต้องมี เพื่อป้องกันการแตกรั่วจากความดันเกิน พร้อมต่อท่อระบายลงน้ำที่มีปริมาณเพียงพอในการดูดซับแอมโมเนีย (ปริมาณน้ำ 8.344 ลิตร ต่อแอมโมเนีย 1 กิโลกรัม)
- วาล์วระบายความดันทุกตัว ต้องตั้งค่าความดันเริ่มเปิดไม่เกินกว่าค่าความดันออกแบบของระบบ หรืออุปกรณ์
4. ข้อกำหนดทั่วไป
- ต้องจัดให้มีผู้ควบคุมระบบทำความเย็นที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการควบคุมระบบโดยเฉพาะ ที่สามารถควบคุม หรือแก้ไขระบบทำความเย็นเมื่อเกิดกรณีมีการรั่วไหลของแอมโมเนียได้
- วาล์วสกัดหลักต่างๆในระบบ วาล์วเมนแอมโมเนียเหลว วาล์วสกัดเมนท่อก๊าซร้อนเพื่อใช้ดีฟรอสท์ วาล์วเมนปิดน้ำยาเหลวจากปั๊มแอมโมเนีย วาล์วตัดต่อปั๊มแอมโมเนียต้องอยู่ในที่เข้าถึงได้สะดวก และมีป้ายชื่อบอกชัดเจน เพื่อสะดวกในการปิดวาล์วสกัดกรณีเกิดการรั่วไหลของแอมโมเนีย
- ถ้ามีช่องทางออกเพียงช่องเดียว จากห้องเครื่องไปบริเวณใช้งานอื่น ต้องไม่เดินท่อแอมโมเนียหรืออุปกรณ์ของระบบในช่องทางเดินนั้น และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางในช่องทางเดิน
- วาล์วถ่ายน้ำมันต้องเป็นแบบปล่อยปิด (Loaded valve)
- ต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับไอแอมโมเนีย (Ammonia Gas Detector) ที่ห้องเครื่อง และห้องปฏิบัติงานที่คนงาน อย่างน้อยห้องละ 1 ชุด
5. ข้อควรระวังจากกรณีศึกษาอุบัติเหตุเกี่ยวกับระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น
- กรณีท่อฟรีสเซอร์ของหอทำน้ำแข็งหลอดบวมแตก
- สาเหตุ
- ใช้ท่อแบบมีตะเข็บซึ่งไม่ได้มาตรฐาน
- มีก้อนน้ำแข็งตกค้างอยู่ภายในท่อฟรีสเซอร์ และได้รับความเย็นซ้ำจนเกิดการขยายตัวดันท่อฟรีสเซอร์จนบวม และแตก
- ข้อเสนอแนะในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
- เลือกใช้ท่อแบบไม่มีตะเข็บที่ถูกต้องตามมาตรฐาน
- ให้ระมัดระวังขั้นตอนในการละลายน้ำแข็งออกให้หมดในแต่ละรอบ ต้องหมั่นสังเกตลักษณะของน้ำแข็งหลอดว่ามีสีขาวรูตัน หรือออกช้าหรือไม่ หรือตรวจสอบจากปริมาณน้ำแข็งที่ออกมในแต่ละรอบว่ามีปริมาณเท่าไหร่ หากพบว่าปริมาณน้ำแข็งออกน้อย หรือไม่หมดให้คอยกดละลายน้ำแข็งซ้ำหรือตั้งเวลาละลายน้ำแข็งให้นานขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศเย็น จะมีปัญหาเรื่องน้ำแข็งออกไม่หมดบ่อยมาก ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ
- กรณีถังพักแอมโมเนีย (Accumulator Tank) ระเบิด
- สาเหตุ
- ไม่มีการออกแบบคำนวณ และรับรองอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม อีกทั้งวัสดุที่ใช้สร้างไม่เหมาะสม
- ขั้นตอนการเชื่อมโลหะไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
- การซ่อมแซมการรั่วซึมของแนวเชื่อมไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม
- ข้อเสนอแนะในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
- การติดตั้งระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น และการสร้างภาชนะรับแรงดันในระบบทำความเย็นต้องมีการออกแบบคำนวณ ควบคุมขั้นตอนการสร้างอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โดยมีการรับรองจากวิศวกร
- การซ่อมแซมอุปกรณ์โดยเฉพาะส่วนที่รับแรงดันต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมภายใต้การควบคุมของวิศวกร
ที่มา : กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม