แนวโน้มการลดใช้สารทำความเย็น HCFCs สำหรับประเทศไทย (HCFCs Phase-Out Plan)

หากกล่าวถึงสารทำความเย็น หรือน้ำยาทำความเย็น (Refrigerants) ประเภท HCFCs ซึ่งเป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ สาร HCFC-22 (หรือ R22) ซึ่งใช้เป็นน้ำยาทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ, ระบบปรับอากาศ (HVAC), และ สาร HCFC-141b (หรือ R141b) ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตโฟม และใช้เป็นน้ำยาล้างทำความสะอาดระบบทำความเย็น เป็นต้น

ซึ่งสาร HCFCs เหล่านี้มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential หรือ ค่า GWP) และค่าศักยภาพในการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Ozone Depletion Potential หรือ ค่า ODP) ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้หลายๆประเทศทั่วโลก และหลายๆองค์กร เริ่มหันมาให้ความสำคัญ และรณรงค์ให้มีการลด ละ เลิก การใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเหล่านี้ และเกิดเป็นสนธิสัญญาการร่วมมือกันระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า “พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances That Deplete the Ozone Layer)”

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 197 ประเทศภาคีสมาชิกพิธีสารมอนทรีออล ได้ดำเนินการ ภายใต้ข้อกำหนดโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFCs (HCFCs Phase-Out Management Plan Stage I) ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เริ่มกำหนดปริมาณการนำเข้าสาร HCFCs (Import quota) เป็นครั้งแรกในปี 2556 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances That Deplete the Ozone Layer) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ ประกอบกับ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ในการดำเนินโครงการลด และเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrochlorofluorocarbons)

โดยมีเป้าหมายว่า ในปี พ.ศ.2573 (Year 2030) ประเทศไทยจะลดปริมาณการนำเข้าสารทำความเย็นประเภท HCFCs ให้เหลือแค่ 2.5% ของปริมาณการใช้งานเฉลี่ยก่อนที่จะมีการเริ่มดำเนินโครงการในปี 2556 (รูปที่ 1) หรือ คิดเป็น 23.2 โอดีพีตัน/ปี และจำกัดปริมาณการใช้เพียงเท่านี้ไปอีก 10 ปี ก่อนที่จะยกเลิก ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าสาร HCFCs ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2583 เป็นต้นไป (รูปที่ 2)

แผนการลด และเลิกใช้สาร HCFC สำหรับประเทศกำลังพัฒนา
รูปที่ 1 : แผนการลด และเลิกใช้สาร HCFC สำหรับประเทศกำลังพัฒนา
แนวทางการอนุญาตนำเข้าสาร HCFCs เพื่อใช้ในประเทศไทย
รูปที่ 2 : แนวทางการอนุญาตนำเข้าสาร HCFCs เพื่อใช้ในประเทศไทย

นอกจากนี้กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้กำหนดมาตรการด้านกฏหมาย เพื่อควบคุมปริมาณการผลิต และปริมาณการใช้งานดังนี้

  • ห้ามใช้ R22 เป็นสารทำความเย็น ในการผลิตเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดทำความเย็น ต่ำกว่า 50,000 BTU เพื่อใช้ในประเทศ ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2560 (ผลิตเพื่อส่งออก ยังสามารถทำได้)
  • ห้ามใช้ R141b หรือ สารที่มีส่วนผสมของ R141b ในกระบวนการผลิตโฟมทุกชนิด ยกเว้นกระบวนการผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (หรือ spray foam) ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2560
  • ห้ามไม่ให้นำเข้า เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R22 ที่มีขนาดทำความเย็นต่ำกว่า 50,000 BTU ตั้งแต่ 31 มี.ค. 2561 (ขนาดใหญ่กว่า 50,000 BTU ยังสามารถนำเข้าได้)

ในตอนต่อไป เราจะมาพูดถึงแนวโน้มการลดปริมาณการใช้สารทำความเย็นประเภท HFCs ในประเทศไทย อาทิ เช่น R32, R134a, R125, R152a, R410A, R404A, เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2567 (Year 2024) หรือ อีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า เพื่อที่เราจะได้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือ และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และการเลือกใช้สารทำความเย็นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

อ้างอิง :